top of page

กะเหรี่ยงสะกอ

Sgaw Karen

ไซโนทิเบตัน หรือ จีน-ทิเบต (Sino-Tibetan)

ตระกูลภาษา

จากการศึกษาข้อมูลทางด้านพันธุศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย พบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความผันแปรของโครงสร้างพันธุกรรมภายในประชากรของกลุ่มชาวเขา ได้แก่ การอาศัยแยกโดดเดี่ยวออกจากประชากรอื่นๆ และวัฒนธรรมภายหลังการแต่งงาน โดยในประชากรกะเหรี่ยงสะกอ จัดในอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไซโนธิเบตันนั้นสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มเกษตรกรรมยุคหินใหม่ ที่มีต้นกำเนิดในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือหรือตอนเหนือของจีนเมื่อประมาณ 6-7 พันปีที่แล้ว โดยพบการมีแฮโปลกรุ๊ป O-M122* ร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ภาษาไซโนธิเบตัน ปัจจุบันพบว่ากะเหรี่ยงสะกอในประเทศไทยบางส่วนได้มีการผสมข้ามกลุ่มกับประชากรอื่นๆ ต่างชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้ภาษาออสโตรเอเชียติก เช่น ชาวมอญ เป็นต้น อ้างอิงจากการมีแฮโปลกรุ๊ป M21a, M*และ M91a ร่วมกันระหว่างสองกลุ่มภาษา ในขณะที่ชาวสะกอบางกลุ่มแสดงค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในกลุ่มประชากรอยู่ในระดับต่ำมาก และยังมีพันธุกรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มกะเหรี่ยงอื่นๆ และต่างไปจากกลุ่มประชากรภาษาอื่นๆ ในประเทศไทย อันเนื่องมากจากการมีประชากรขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 20 ครอบครัว) และแยกอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลานาน (Kutanan et al., 2018; 2019; 2020) ด้วยปัจจัยที่ส่งผลต่อโครงสร้างพันธุกรรมของชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ ก่อให้เกิดความแตกต่างทางพันธุกรรมทั้งระหว่างประชากรภายในกลุ่มตระกูลภาษาเดียวกัน (heterogeneity)  และระหว่างประชากรต่างกลุ่มภาษาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบเชื้อสายเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทางฝ่ายมารดาหรือดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย เป็นสิ่งยืนยันการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งคาดว่าเป็นบรรพบุรุษเริ่มแรกของชาวกะเหรี่ยง และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มที่ผสมเข้ามาในภายหลังหลังการอพยพลงมาทางตอนใต้ของกลุ่มกะเหรี่ยง โดยแต่งงานกับประชากรดั้งเดิมในพื้นที่ตามเส้นทางการอพยพลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมีวัฒนธรรมฝ่ายชายย้ายเข้าบ้านฝ่ายหญิงผ่านหลังการแต่งงาน ทำให้สงวนพันธุกรรมเชื้อสายมารดาดั้งเดิมไว้ภายในประชากร และรับเอาพันธุกรรมทางเชื้อสายบิดาของประชากรอืนเข้ามาเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานถิ่นกำเนิดของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศจีน (Kutanan et al., 2018; 2020)

การศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุศาสตร์กับประชากรอื่นๆ

ทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดและประวัติประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยชาวกะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มกะเหรี่ยงที่พบอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากที่สุด และถูกสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงลักษณะดั้งเดิมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาวกะเกรี่ยงกลุ่มอื่นๆ เช่น กะเหรี่ยงโปว เป็นต้น ชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมักเลือกการแยกอยู่อาศัยอย่างสันโดดในพื้นที่ห่างไกล เช่น ป่าหรือบนภูเขา (เรียกในชื่อว่าชาวเขา: hill tribe) หลีกเลี่ยงการพบปะหรือติดต่อการประชากรอื่นๆ ทำให้การสืบประวัติประชากรของชาวกะเหรี่ยงเป็นไปได้ค่อนข้างยากอันเนื่องจากขาดหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับชาวกะเหรี่ยงในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาจหลงเหลือทิ้งไว้จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในอดีต อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางด้านภาษาศาสตร์และลักษณะวัฒนธรรมต่างๆ ชี้ว่าชาวกะเหรี่ยงอาจมีต้นกำเนิดในประเทศจีนหรือในพื้นที่ใกล้เคียงกับธิเบตในปัจจุบัน ก่อนที่ต่อมาจะถูกรุกรานและอพยพลงมายังประเทศพม่า ในช่วงคริสตวรรษที่ 6-7 ภายหลังกลุ่มประชากรเล็กๆ บางส่วนได้แยกอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้ โดยกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอพบตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย บริเวณที่มีอาณาเขตชายแดนร่วมกันกับประเทศพม่า

สำหรับเครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงสะกอหรือปกากะญอนั้น การแต่งกายของผู้หญิงจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานะการสมรส ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะสวมใส่ชุดคลุมทรงกระสอบตัวยาวสีขาวที่ทำจากการเย็บผ้าผืนใหญ่สองชิ้นติดกัน มีช่องตัดด้านบนสำหรับศีรษะและด้านข้างสองข้างสำหรับสอดแขน ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนั้นจะใส่เสื้อแขนสั้นสีน้ำเงินเข้มที่มีการตกแต่งส่วนล่างด้วยลูกปัดสีขาวและแดง สวมกระโปรงสีแดงหรือม่วงลายขวาง และมีผ้าโพกศีรษะหลากหลายสีแตกต่างกันไป ส่วนผู้ชายจะสวมเสื้อตัวใหญ่แขนสั้นสีแดงที่ประดับด้วยพู่ กางเกงตัวใหญ่สีน้ำเงินเข้มหรือสีดำ มีผ้าโพกศีรษะหลากหลายสีเช่นเดียวกับผู้หญิง นอกจากนี้ทั้งบุรุษและสตรียังมักนิยมเครื่องประดับต่างหูเงินขนาดใหญ่แบบสวมสอดอีกด้วย ชาวกะเหรี่ยงสะกอมีวัฒนธรรมภายหลังการแต่งงาน โดยฝ่ายชายจะต้องย้ายเข้ามาร่วมอยู่อาศัยกับครอบครัวฝ่ายหญิงภายหลังพิธีแต่งงาน (matrilocal residence) (Besaggio et al., 2007)

ข้อมูลทั่วไป

กะเหรี่ยง (Karenic branch)

กลุ่มภาษาย่อย

ภาคกลาง, ภาคตะวันตก

ภูมิภาค

ตาก, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, กาญจนบุรี, ราชบุรี

จังหวัดที่พบ

200,000 คน

จำนวนประชากร

ปกากะญอ กะหร่าง ยางขาว

ชื่อเรียกอื่นๆ

bottom of page