top of page

ถิ่น

Htin

ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic)

ตระกูลภาษา

สำหรับการศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรของชาวถิ่นที่ผ่านมา มีการศึกษาเครื่องหมายดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรียบริเวณ HVR1 และดีเอ็นเอไมโครแซเทลไลต์บนโครโมโซมวาย (Y-STR) ผลการศึกษาดีเอ็นเอทั้งสองเครื่องหมายพบความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างถิ่นสองกลุ่ม (ถิ่นมัล และถิ่นปรัย) สอดคล้องกับความแตกต่างทางภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนในฝ่ายหญิง เนื่องจากวัฒนธรรมการย้ายถิ่นฐานหลังการแต่งงานที่เป็นแบบฝ่ายชายย้ายเข้าบ้านฝ่ายหญิง หรือ matrilocality ทำให้มีการแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอของเพศชายมากกว่าเพศหญิง ความแตกต่างของดีเอ็นเอบนโครโมโซมวายจึงต่ำกว่า ในขณะที่ดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรียมีค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำกว่า จากการเคลื่อนย้ายที่น้อยกว่า (Kutanan et al., 2011) เช่นเดียวกันกับการศึกษาของ Kampuansai et al. (2017) ด้วยการวิเคราะห์ไมโครแซเทลไลท์ จำนวน 15 ตำแหน่ง พบว่าถิ่นมัล และถิ่นปรัย มีลักษณะทางพันธุกรรมค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ และมีความแตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่น เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ห่างไกล ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกับประชากรอื่นน้อย และส่งผลให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ ซึ่งผลดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับการเกิดจีเนติกดริฟท์ หรือ อิทธิพลของผู้ก่อตั้ง นอกจากนี้ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรียตลอดทั้งจีโนม พบว่าชาวถิ่นมีแฮโปลกรุ๊ปที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเท่านั้น ได้แก่ การพบ B6a ในถิ่นมัล ในขณะที่พบ M12a1a และ F1a1a ในถิ่นปรัย บ่งบอกความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรถิ่นจากประชากรอื่น และไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางพันธุกรรมกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ ทั้งกลุ่มที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติกด้วยกัน หรือกลุ่มตระกูลภาษาอื่น ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยการนิยมแต่งงานภายในกลุ่มชาติพันธุ์ (Kutanan et al., 2017) ในขณะที่ การวิเคราะห์ข้อมูล Genome-Wide data ได้ระบุการจัดกลุ่มทางพันธุกรรมของประชากรในกลุ่มที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก สาขาย่อยขมุและสาขาย่อยกะตู ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมในบริเวณประเทศลาว ดังนั้น อาจเกิดการไหลของยีนระหว่างกลุ่มประชากรก่อนที่จะอพยพย้ายเข้าสู่ประเทศไทยในภายหลัง (Kutanan et al., 2021)

การศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุศาสตร์กับประชากรอื่นๆ

ถิ่น เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของลาว โดย “ถิ่น”เป็นชื่อเรียกที่ตั้งโดยคนไทยในพื้นราบและทางราชการอ้างถึงกลุ่มคนพื้นถิ่นในบริเวณจังหวัดน่าน รวมไปถึงแขวงไชยบุรีของประเทศลาว ซึ่งอาจมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม อพยพผ่านประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงศตวรรษที่ 20 หรือเมื่อ 70 – 90ปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของชาวถิ่นตามชายฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดน่าน (ชายแดนอำเภอเมือง ทุ่งช้าง ปัว และบ่อเกลือ) รวมทั้งแขวงไชยบุรีและแขวงหลวงพระบางของประเทศลาว อย่างไรก็ตาม ชาวถิ่นบางกลุ่มในประเทศไทยระบุว่าตนเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยในในพื้นมาก่อน ซึ่งอาจเกิดการอพยพเข้าสู่ประเทศลาว และมีการอพยพกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยในภายหลังอีกครั้ง เนื่องจากการยึดครองของคอมมิวนิสต์ในประเทศลาว ช่วงปี ค.ศ. 1975 ชาวถิ่นจึงลี้ภัยการเมืองเข้าสู่ประเทศไทย (Schliesinger, 2000) ในกลุ่มของถิ่นมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน ทำให้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ ถิ่นมัล และ ถิ่นปรัย ซึ่งมีภาษาที่แตกต่างกัน และไม่สามารถเข้าใจภาษาของกันและกัน (นิพัทธเวช และภูเบธ, 2531)

ข้อมูลทั่วไป

สาขาคาซี-ปากานิก (Khasi-Pakanic ) สาขาย่อยขมุ (Khmuic)

กลุ่มภาษาย่อย

ภาคเหนือ

ภูมิภาค

น่าน

จังหวัดที่พบ

40,000 คน

จำนวนประชากร

ลัวะ เลอเวือะ ละเวือะ ละว้า ถิ่น มัล ไปร

ชื่อเรียกอื่นๆ

bottom of page