มลาบรี
Mlabri
ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic)
ตระกูลภาษา
ด้วยวิถีการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ชาวมลาบรีจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความน่าสนใจในการศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ประชากร ที่ผ่านมามีการรายงานลักษณะทางพันธุกรรมของชาวมลาบรีด้วยเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่หลากหลาย โดยระบุว่าเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายต่ำ และแตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่นสูง เช่น การวิเคราะห์ไมโครแซเทลไลท์บนออโทโซม (Mawan et al., 2021) การวิเคราะห์ดีเอ็นเอบนบนไมโทคอนเดรียและดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย (Kutanan et al., 2019) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการศึกษาประชากรที่มีวิถีชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ในประเทศไทยด้วยเครื่องหมายดีเอ็นบนไมโทคอนเดรียตลอดทั้งจีโนมและดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย บริเวณ non-recombining Y chromosome (NRY) พบว่า ชาวมลาบรีมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น โดยมีจำนวนดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียและโครโมโซมวายเพียง จำนวน 2 และ 6 แฮโปลไทป์ ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเจเนติกดริฟต์และการแยกตัวของประชากรกลุ่มนี้ออกไปตั้งถิ่นฐานในแหล่งใหม่ นอกจากนี้ พบว่าชาวมลาบรีมีแฮโปลกรุ๊ปที่พบได้ทั่วไปในเชื้อสายของประชากรแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ใช่กลุ่มเนกริโต (Negrito) ได้แก่ แฮโปลกรุ๊ป B5a1b1 บนดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย และ แฮโปลกรุ๊ป O1b1a1a1b และ O1b1a1a1b1a1 ของดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย อีกทั้งยังพบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของข้อมูลดีเอ็นเอบนโครโมโซมวายที่สอดคล้องกับประชากรถิ่นและขมุ โดยเป็นกลุ่มที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก สาขาย่อยขมุเช่นเดียวกัน ทำให้บ่งบอกได้ว่า ชาวมลาบรีไม่ใช่ประชากรที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากชาวเนกริโตพื้นเมือง แต่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับชาวถิ่นและขมุ และมีการโยกย้ายจากกลุ่มที่ทำการเกษตร หรือเกิดเหตุการณ์ founder effect มาใช้ชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ในภายหลัง จนทำให้เกิดการลดต่ำลงของความหลากหลายทางพันธุกรรม เนื่องจากไม่มีการติดต่อกับบุคคลภายนอกกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะที่ เชื้อสายของดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียมีความใกล้ชิดกับประชากรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กลุ่มแสก โซ่ และบรู ผู้ที่มีการอพยพมาจากลาวเช่นเดียวกันกับชาวมลาบรี ในช่วง 200ปีที่ผ่านมา (Kutanan et al., 2018) เช่นเดียวกันกับข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ Genome-Wide data พบการจัดกลุ่มความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของชาวมลาบรีร่วมกับประชากรกลุ่มที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก สาขาย่อยขมุ และสาขาย่อยกะตู จากการมีถิ่นฐานเดิมในประเทศลาว อาจส่งผลให้เกิดการไหลของยีนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนที่จะอพยพเข้าสู่ประเทศไทยและตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ห่างไกลจากผู้คนจนทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงเรื่อย ๆ (Kutanan et al., 2021)
การศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุศาสตร์กับประชากรอื่นๆ
ชื่อเรียก “มลาบรี” ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ “มลา” หมายถึง คน และ “บรี” หมายถึง ป่า ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาของประเทศไทยและลาว มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การเก็บของป่าล่าสัตว์ (hunting and gathering) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวมลาบรีถูกเรียกว่า “ผีตองเหลือง” (spirits of the yellow leaves) เนื่องจาก คำว่า ผี มาจากการเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่อย่างสันโดษ ไม่ชอบพบปะกับผู้คน และมีความว่องไว เช่นเดียวกันกับผีที่ชอบหายตัวหรือเห็นตัวจริงยาก ในขณะที่ ตองเหลือง เกิดจากการที่พวกเขานิยมใช้ใบตองสดมุงหลังคาสำหรับเป็นที่พำนักอาศัย และจะเปลี่ยนที่อยู่ใหม่เมื่อใบตองเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ทำให้เป็นการดำเนินชีวิตที่เร่ร่อน เคลื่อนย้ายบ่อย และไม่มีความแน่นอน (ประเสริฐ ชัยพิกุสิต, 2542) นักวิชาการเชื่อว่าชาวมลาบรีเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากชนเผ่าที่มีการเก็บของป่าล่าสัตว์โบราณสมัยฮัวบินเนียน (Hoabinhian) และอาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานแน่นอน และไม่มีภาษาเขียน จึงทำให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนแก่บุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดระบุว่าการอพยพของชาวมลาบรีเข้าสู่ประเทศไทยจากแขวงไชยบุรีของประเทศลาว เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมานี้ พบหลักฐานการอาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยและลาว เช่น ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และภูกระดึง จังหวัดเลย ก่อนที่ภายหลังจะอพยพย้ายขึ้นไปบริเวณภาคเหนือของไทย ซึ่งในปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดแพร่และน่าน (สุรินทร์ ภู่ขจร, 2531; Schliesinger, 2000)
ข้อมูลทั่วไป
สาขาคาซี-ปากานิก (Khasi-Pakanic ) สาขาย่อยขมุ (Khmuic
กลุ่มภาษาย่อย
ภาคเหนือ
ภูมิภาค
แพร่, น่าน
จังหวัดที่พบ
200 คน
จำนวนประชากร
ยุมบรี มละบริ ผีตองเหลือง ผีป่า ข่าตองเหลือง ข่าป่า ม้ากู่ จันเก้ม ตองเหลือง คนตองเหลือง คนป่า ชาวเขา
ชื่อเรียกอื่นๆ