มอญ
Mon
ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic)
ตระกูลภาษา
จากประวัติความเป็นมาของชาวมอญที่มีมาอย่างยาวนานนั้น ส่งผลให้มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการผสมผสานทางพันธุกรรมด้วยเชื้อสายที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จากการศึกษาเครื่องหมายดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรีย (mitochondrial DNA; mtDNA) พบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างประชากรกลุ่มมอญกับประชากรจากพม่า กะเหรี่ยง รวมทั้งอินเดีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย (Kutanan et al., 2018a) นอกจากนี้ ยังพบการผสมผสานทางพันธุกรรมของชาวมอญที่อาศัยในบริเวณภาคกลางกับชาวไทยในภาคกลาง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากเครื่องหมายทางพันธุกรรมชนิดไมโครแซเทลไลท์บนออโทโซม (Srithawong et al., 2021) ที่อาจเกิดการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมขึ้นภายหลังจากการเข้ามาสู่ประเทศไทยของชาวมอญ ในขณะที่ เครื่องหมายดีเอ็นเอบนออโทโซมได้ระบุว่าชาวมอญในภาคเหนือมีการผสมผสานระหว่างข้อมูลทางพันธุกรรมกับชาติพันธุ์ไทล้านนา ด้วยการแต่งงานระหว่างชาติพันธุ์ (Kampuansai et al., 2017) อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางพันธุกรรมของชาวมอญในภาคเหนือพบว่ามีความไม่สอดคล้องกันของเชื้อสายทางฝ่ายหญิงด้วยดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียและฝ่ายชายด้วยดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย โดยที่ชาวมอญฝ่ายหญิงมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ไท ในขณะที่ฝ่ายชายมีความห่างไกลกับชาวไทสูง แสดงให้เห็นว่ามีการเอนเอียงของเพศในการผสมผสานทางพันธุกรรม (sex-bias genetic admixture) ซึ่งเพศหญิงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางพันธุกรรมมากกว่าเพศชาย (Kutanan et al., 2011) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอญกับประชากรอินเดีย ยังถูกสนับสนุนด้วยข้อมูลเชื้อสายทางพันธุกรรมทั้งฝ่ายพ่อ (เช่น แฮโปลกรุ๊ป R*, H*, J*, L* และ Q*) และฝ่ายแม่ (เช่น แฮโปลกรุ๊ป W3a1b, M6a1a, M30, M40a1, M45a และ I1b) ที่ชาวมอญได้รับจากประชากรแถบเอเชียใต้ และเอเชียกลาง ซึ่งแสดงถึงการมีความสัมพันธ์ระหว่างบรรพบุรุษของมอญและอินเดียในอดีต (Kutanan et al., 2017; 2019)
การศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุศาสตร์กับประชากรอื่นๆ
ชาวมอญถือว่าเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี หรือเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและประเทศพม่า นอกจากนี้ ชาวมอญมีการก่อตั้งแคว้นหริภุญไชยขึ้น ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ถึง 14 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ถึง 19 แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงชนกลุ่มเล็ก มีจำนวนประมาณ 500 ครัวเรือนในจังหวัดลำพูน แต่อย่างไรก็ตามชาวมอญปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคาดว่าไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากมอญสมัยทวารวดี แต่สืบเชื้อสายมาจากมอญประเทศพม่า ที่มีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2127 จากสาเหตุความไม่สงบและสถานการณ์การเมืองการปกครองในประเทศพม่า จึงทำให้มอญจากพม่าหลบหนีเข้ามาในไทย ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นอันดับที่สองรองจากรัฐมอญในพม่า (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, พรทิพย์ อุศุภรัตน์ และประภาศรี ดำสะอาด, 2542) ถึงแม้ว่าชาวมอญจะมีการรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบัน ชาวมอญมีการปรับตัวผสมผสานเข้ากับคนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ผ่านการแต่งงานหรือการศึกษา ที่ทำให้ชาวมอญมีวิถีการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยส่วนใหญ่ (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558)
ข้อมูลทั่วไป
สาขามอญ-เขมร (Mon-Khmer) สาขาย่อยมอญ (Monic)
กลุ่มภาษาย่อย
ภาคเหนือ, ภาคตะวันตก, ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภูมิภาค
กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ลพบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, สุพรรณบุรี, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, เชียงใหม่, ลำพูน
จังหวัดที่พบ
45,000 – 400,000 คน
จำนวนประชากร
รามัญ รมัน ตะเลง ตะลาย เพกวน
ชื่อเรียกอื่นๆ