มานิ
Maniq
ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic)
ตระกูลภาษา
จากงานการศึกษาประชากรที่มีวิถีชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า hunter-gatherer ซึ่งประกอบด้วย ชาวมานิและมลาบรี ด้วยเครื่องหมายดีเอ็นบนไมโทคอนเดรียตลอดทั้งจีโนมและดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย บริเวณ non-recombining Y chromosome พบว่าชาวมานิมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศไทยกลุ่มอื่น โดยมีผลของดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรียที่หลากหลายมากกว่าชาวมลาบรี ซึ่งข้อมูลแฮโปลกรุ๊ปที่พบในชาวมานิจัดเป็นเชื้อสายโบราณ เช่น แฮโปลกรุ๊ป M21a, R21 และ M17aในดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย และ แฮโปลกรุ๊ป K ในดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย อีกทั้งยังพบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างชาวมานิกับกลุ่มชนพื้นเมืองในมาเลเซียและบริเวณหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ่งชี้ได้ว่าชาวมานิสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากบรรพบุรุษร่วมกับประชากรกลุ่มเนกริโตพื้นเมืองดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ การลดลงของความหลายหลายทางพันธุกรรมของประชากรกลุ่มนี้ อาจเกิดจากอพยพเข้ามาของกลุ่มคนที่ทำเกษตรกรรมในยุคหินใหม่ จนทำให้ชาวมานิมีการแยกตัวไปตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มย่อยในพื้นที่ที่ต่างกัน (Kutanan et al., 2018) นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลดีเอ็นเอบนไมโทคอนเดรียตลอดทั้งจีโนม และข้อมูลดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย พบความแตกต่างทางพันธุกรรมของชาวมานิในระดับสูงจากทั้งสองเครื่องหมายดีเอ็นเอ (Kutanan et al., 2019)
การศึกษาความสัมพันธ์เชิงพันธุศาสตร์กับประชากรอื่นๆ
“มานิ” คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกที่หลายหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่ง “มานิ” นี้มีความหมายว่า คน เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ในขณะที่กลุ่มประชากรอื่นในไทยเรียกว่า “เงาะป่า”หมายถึง บุคคลที่อาศัยอยู่ในป่าและมีผมหยิก นอกจากนี้ คำว่า “ซาไก” เป็นคำจากประเทศมาเลเซียสำหรับเรียกกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามป่าและภูเขา ต่อมาชาวไทยจึงใช้อ้างถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซียและได้มีการอพยพมาที่ประเทศไทยภายหลัง หรือคนไทยเรียกรวมกันว่า “เงาะป่าซาไก”ที่หมายถึงกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตแบบเก็บของป่า ล่าสัตว์ อาศัยในภาคใต้ของไทย และ “เซมัง” หรือ “เซียมัง” เป็นภาษามลายู แปลว่า ลิงหรือค่างดำชนิดหนึ่ง โดยมานิเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองโบราณของไทย ที่เรียกว่า เนกริโต (Negritos) ที่สืบเชื้อสายนิกรอยด์ มีลักษณะตัวเล็ก มีความสูงเฉลี่ยเพียง 150 เซนติเมตร ผิวดำ ผมหยิก และริมฝีปากหนา มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในป่าลึก ดำรงชีพแบบหาของป่าล่าสัตว์ และเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร ส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับคนภายนอกและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ประวัติการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชาวมานิคาดว่าเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาสู่บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายพันปีก่อนคริตศักราชและยังคงหลงเหลืออยู่ นักวิชาการคาดว่าชาวมานิอาศัยอย่างกระจัดกระจายตามป่าเขาอยู่ในดินแดนคาบสมุทรมลายูภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ยุคหินกลาง (Middle Stone Age) หรือเมื่อประมาณ 1,500-10,000ปีมาแล้ว เนื่องจากเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายสูง เหมาะแก่การดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม บทบาทของชาวมานิในปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานที่ถาวรมากขึ้น มีการออกมาแต่งงานกับผู้คนเมือง และปรับตัวใช้ชีวิตแบบคนเมือง ได้รับการศึกษา จนกระทั่งการทำงานร่วมงานกับผู้ในสังคม (Schliesinger, 2000)
ข้อมูลทั่วไป
สาขามอญ-เขมร (Mon-Khmer) สาขาย่อยอัสเลียน (Aslian)
กลุ่มภาษาย่อย
ภาคใต้
ภูมิภาค
ตรัง, พัทลุง, สตูล, ยะลา
จังหวัดที่พบ
50-100 คน
จำนวนประชากร
เกนซิว โอรังอัสลี เนกริโต เซมัง ซาไก ชอง มอส ตอนกา เงาะ เงาะป่า
ชื่อเรียกอื่นๆ